Mobile From Advance

16 January 2008

PDA, Pocket PC อะไรเป็นอะไรกัน

ความจริงคำถามนี้มีมานานแล้วนะครับ นานตั้งแต่เริ่มมี PDA นั่นแหละ


มาวันนี้ Pocket PC โดยเฉพาะ Pocket PC Phone เป็นที่นิยมมากขึ้น ในฐานะของเว็บ Pocket PC ที่ตั้งมานานเป็นเว็บแรกๆแห่งหนึ่ง ก็เลยเห็นว่าน่าจะเขียนเรื่องของ Pocket PC และ PDA ไว้อ้างอิงกันสะดวกๆเสียทีครับ


เรามาเริ่มกันจากคอมพิวเตอร์ก่อนก็แล้วกันครับ หากจะถามว่าคอมพิวเตอร์คืออะไร เอาไว้ใช้ทำอะไร แหม คงตอบยากไม่ใช่เล่นนะครับ ทั้งๆที่เราๆแสนจะคุ้นเคย







ครับ คอมพิวเตอร์แบบที่เราเห็นๆกันนี่ เรียกกันเต็มๆหน่อยว่า Microcomputer มีใช้กันมายี่สิบกว่าปีแล้วนะครับ แรกๆก็ถามกันแบบนี้แหละ ว่ามันคืออะไร ใช้ทำอะไร สมัยนั้นคำถามนี้สำคัญทีเดียว เพราะยังมีใช้กันไม่มากนัก


แต่มาวันนี้ แทบจะเรียกได้ว่า ใครใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น ก็ไม่มีใครรับเข้าทำงานกันแล้ว ส่วนมันจะเป็นอะไร ทำอะไรได้บ้างนั้น ดูเหมือนจะเป็นคำถามที่สำคัญน้อยลงไป


ว่าง่ายๆคือ คำนิยามของคอมพิวเตอร์นั้น ป่านนี้ก็ยังไม่มีคำไหนที่ชัดเจนจนทุกคนรู้จักจำได้เหมือนๆกัน แต่ว่าทุกคนดูเหมือนจะรู้และคุ้นเคยกันไปในประสบการณ์ของแต่ละคนไปแล้ว ว่าคอมพิวเตอร์คืออะไร เอาไว้ทำอะไร





สิ่งที่เลือนหายไปเมื่อมีคอมพิวเตอร์เข้ามา สิ่งหนึ่งก็คือ เครื่องพิมพ์ดีดครับ แม้กระทั่งในสำนักงานเล็กๆก็หาพิมพ์ดีดไม่ได้เสียแล้ว กลายเป็นคอมพิวเตอร์ไปหมด


แต่คอมพิวเตอร์ก็ไม่ใช่เครื่องพิมพ์ดีด เพียงแต่มันทดแทนเครื่องพิมพ์ดีดไปแล้ว ชนิดที่เรียกว่า โดยสมบูรณ์ครับ โดยกลายเป็นเครื่องมือจัดการด้านเอกสารครบวงจร ตั้งแต่การร่างเอกสาร จัดรูปแบบ พิมพ์เอกสาร และจัดเก็บ


แล้วคอมพิวเตอร์ก็ยังเป็นเครื่องมือสำหรับกิจกรรมแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนด้วย เช่น ารสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทั้งการคุยกันทางเว็บบอร์ด ทางระบบข้อความอย่าง MSN Messenger หรือติดต่อกันทาง Email


ครับ ที่เขียนมายืดยาวก็เพื่อจะบอกว่า ผ่านมายี่สิบปี เราก็ยังไม่มีนิยามของคอมพิวเตอร์กันอย่างที่ทุกๆคนจะเข้าใจและบอกได้ตรงกันเป็นเสียงเดียว แต่ก็ไม่มีใครสนใจจะถามกันแล้ว


PDA ก็คงทำนองเดียวกันครับ ด้วยความที่ PDA มีความเป็นคอมพิวเตอร์อย่างมาก คือติดตั้งโปรแกรมเพิ่มเติมได้ ก็เลยทำอะไรต่ออะไรได้หลากหลาย ถึงแม้วันนี้ยังไม่มีเครื่องมืออะไรที่ล้มหายตายจากไปเพราะโดน PDA ทดแทนเหมือนที่เครื่องพิมพ์ดีดเคยเป็น แต่อีกสักระยะเราคงได้เห็นกันครับ


PDA ก็คล้ายกับคอมพิวเตอร์เล็กๆครับ ติดตั้งโปรแกรมเพิ่มเติมได้ แต่สะดวกขึ้นมาตรงที่ขนาดพกพาได้ง่าย เปิดเครื่องแล้วใช้งานได้ทันทีไม่ต้องรอบูท มีจอภาพที่ใหญ่เกินตัว ใช้แตะเพื่อสั่งงานหรือกรอกข้อมูลได้






ความจริง PDA มีที่มาจาก Electronics Organizer ครับ ที่พัฒนาให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น ทุกวันนี้ Electronics Organizer ก็แทบไม่มีเหลือให้เห็นแล้วนะครับ ที่ยังพอมีอยู่ตอนนี้เด่นๆคือพวกที่พัฒนามาเป็นพจนานุกรมอิเลคโทรนิคส์ไงครับ แต่ความที่ติดตั้งโปรแกรมเพิ่มเติมไม่ได้ การใช้งานจึงค่อนข้างจำกัด แล้วก็เลยไม่เป็นที่นิยมเท่า PDA ครับ พจนานุกรมอิเลคโทรนิคส์น่าจะเป็นพัฒนาการสุดท้ายของ Electronics Organizer ไปแล้ว และน่าจะมีที่ใช้ในฐานะของพจนานุกรมไปอีกนาน เพราะใช้งานได้ลงตัวกับข้อมูลอ้างอิงขนาดใหญ่





PDA ถือกำเนิดขึ้นมาประมาณช่วงทศวรรษ 1990 ครับ คือสักสิบปีมานี่เอง โดยผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ชั้นนำ Apple Computer ได้เสนอสิ่งประดิษฐ์ใหม่ คอมพิวเตอร์ขนาดพกพา ไม่มี Keyboard แต่ใช้จอภาพพิเศษที่เขียนลงบนจอได้โดยตรง คล้ายๆกับเป็นกระดานชนวนขนาดเล็ก ซึ่งเชื่อกันว่า การเขียนนี่แหละ คือการสั่งงานที่เป็นธรรมชาติที่สุด ไม่ต้องมี Mouse หรือ Keyboard แล้วให้ชื่อของคอมพิวเตอร์พกพานี้ว่า Apple Newton


Newton นี่แหละครับ ที่เป็นอุปกรณ์ PDA ตัวแรก โดยมาจากคำว่า Personal Digital Assistant เพราะมองกันว่าจะเป็นเครื่องมือส่วนตัวที่ใช้ช่วยงานสารพัดด้วยความที่เป็นคอมพิวเตอร์นั่นเอง


แต่จนป่านนี้ PDA ยังห่างไกลจากเครื่องมือสารพัดประโยชน์นะครับ แม้ว่าจะมีสารพัดโปรแกรมไว้เอามาช่วยงาน
ก็คงคล้ายๆกับคอมพิวเตอร์อีกนั่นแหละครับ ที่จริงๆแล้วเรานำมาใช้งานเพียงส่วนเดียวของความสามารถ แต่ขอให้เป็นส่วนที่สำคัญเท่านั้นก็คุ้มแล้ว


สำหรับ PDA วันนี้ งานที่เห็นชัดเจนที่สุดว่า PDA ทำได้ดีคือ โทรศัพท์และการจัดการสื่อสารครับ ซึ่งเราจะได้อ่านกันในบทของ Smartphone กันอีกทีหนึ่ง


แล้ว Pocket PC มาจากไหนล่ะทีนี้


ครับ ความที่ PDA คือคอมพิวเตอร์ชนิดหนึ่ง คอมพิวเตอร์เนี่ย เขาต้องมีระบบปฏิบัติการ (Operating System - OS) ใช่มั้ยครับ เช่น Windows หรือ Mac OS หรือ Linux หรือ UNIX ก็แล้วแต่


Pocket PC ก็คือ PDA ที่ใช้ระบบปฏิบัติการในตระกูล Windows นี่เองครับ โดยสมัยแรกๆก็เรียกชื่อระบบปฏิบัติการนี้ว่า Pocket PC, Pocket PC 2002 แล้วก็เปลี่ยนชื่อมาเป็น Windows Mobile 2003, Windows Mobile 5 ตามการพัฒนาครับ


ดังนั้น Pocket PC ก็คือ PDA ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Pocket PC หรือระบบปฏิบัติการ Windows Mobile นั่นเองครับ


แต่เราจะพูดถึง PDA โดยไม่พูดถึงระบบปฏิบัติการสำคัญอีกอันหนึ่งคือ Palm ไม่ได้ครับ เพราะ Palm นี่แหละ จึงมี Pocket PC ในวันนี้





หลังจากที่มี Apple Newton ออกมา ตอนนั้น PDA ยังเป็นเหมือน Concept ที่ใหม่มาก มีผู้ใช้อยู่ในวงจำกัด สมัยนั้น Windows ก็มีรุ่นเล็กสำหรับ Electronics Organizer แล้วนะครับ คือ Windows CE ใช้กับอุปกรณ์ที่เรียกว่า Handheld PC (H/PC) แต่ก็ความที่เป็นระบบปฏิบัติการของ Electronics Organizer นั่นเอง ก็เลยไม่รุ่งเข้าไปอีกครับ


แม้ว่า Newton จะไม่ดังเท่าที่ควร แต่ Concept ของ Newton นั้นมีแววดีครับ จนมาวันหนึ่งก็มีเครื่อง Palm ขึ้นมา และทำให้คำว่า PDA และ Palm เป็นที่รู้จักกันทั่วไป





Palm คือยี่ห้อของ PDA แบบหนึ่งครับ โดยใช้ระบบปฏิบัติการ Palm OS ซึ่งเป็นส่วนผสมของสิ่งประดิษฐ์สำคัญอีกสองสิ่งในสมัยนั้นนอกจากจอภาพ Touch screen คือ ระบบปฏิบัติการสำหรับอุปกรณ์ขนาดเล็กของ Kodak กับการอ่านลายเส้นจากการเขียนออกมาเป็นตัวหนังสือของ Xerox


เครื่อง Palm มีจุดเด่นเหนือ PDA อื่นๆในเวลานั้นด้วยขนาดกระทัดรัด การใช้งานที่เรียบง่าย และ ารอ่านลายมือเขียนที่แม่นยำ แม้จะต้องหัดเขียนลายมือใหม่ แต่ก็ใกล้เคียงกับลายมือธรรมชาติ วิธีการเขียนแบบนี้มีชื่อทางการค้าว่า Graffiti ครับ และได้กลายมาเป็นการเขียนที่นิยมอยู่ระยะหนึ่ง
เครื่อง Palm เป็นแรงผลักดันให้เกิดการแข่งขันและ Pocket PC ต้องพัฒนาตัวเองอย่างมากครับ





ความสำเร็จของ Palm ทำให้ทาง Windows CE ต้องพัฒนาตัวเอง โดยออก Windows CE 2.11 ซึ่งใช้ งานกับอุปกรณ์ไร้ Keyboard เช่นเดียวกับ Palm และเรียก PDA ที่ใช้ Windows CE 2.11 นี้ว่า Palm-sized PC ครับ


Palm-sized PC มีจุดเด่นเดิมๆของ Windows CE คือใช้งานข้อมูลร่วมกับคอมพิวเตอร์ได้ (แต่ต้องใช้กับโปรแกรมเฉพาะนะครับ ใช้โปรแกรมของคอมพิวเตอร์โดยตรงไม่ได้)


แต่การใช้งานส่วนตัว ไม่ได้ต้องการใช้ข้อมูลจากคอมพิวเตอร์มากมายอะไร ส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลในกลุ่ม PIM (Personal Information Management) เช่น Contacts, Calendar และ Tasks มากกว่า ซึ่ง Palm-sized PC เล่นยกเอา Outlook มาใช้เต็มๆ ทำให้ซับซ้อนเกินไป ใช้งานไม่สะดวก กว่าจะกรอกข้อมูลอะไรทีหนึ่งต้องสั่งงานกันหลายขั้นตอน ตัวเครื่องก็ยังใหญ่เกินไป จึงแทบไม่มีใครสนใจจะใช้





ในปี 2000 Palm-sized PC ได้พัฒนาใหม่อย่างมากให้แข่งขันกับ Palm โดยได้เปลี่ยนวิธีใช้งานใหม่หมด และเป็นจุดกำเนิดของ Pocket PC ครับ
Pocket PC มีจุดเด่นที่จอภาพสี มีลำโพงในตัวและแจ๊ค Stereo พร้อมทั้งโปรแกรม Windows Media Player สำหรับดูหนังฟังเพลง พร้อมทั้ง Pocket
Word และ Pocket Excel สำหรับดูไฟล์ Word และ Excel


มีกระทั่ง Pocket Internet Explorer อีกด้วย นอกเหนือไปจาก PIM ที่ใช้ข้อมูลร่วมกับ Outlook และทั้งหมดนี้ ทำงานไปพร้อมๆกันได้ เพราะระบบปฏิบัติการมีพื้นฐาน Multitasking เหมือน Windows


คือตั้งใจจะให้เป็นคอมพิวเตอร์เล็กๆ สมบูรณ์แบบทั้งกิจกรรมส่วนตัว ธุรกิจและความบันเทิงในเครื่องเดียวกัน


Concept ดีครับ แต่ Pocket PC มีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับ Palm การใช้งาน PIM ที่ยังคงยุ่งยากซับซ้อนกว่า โปรแกรมที่อยู่บนพื้นฐานของ Windows นั้นมีขนาดใหญ่และซับซ้อน ต่างจากของ Palm ที่กระทัดรัด ทำงานรวดเร็ว พัฒนาง่าย ติดตั้งง่าย และส่วนใหญ่ฟรี หรือมีราคาถูกกว่า มีให้เลือกมากกว่าหลายเท่า และความที่ Pocket PC ใช้ฟังเพลงได้ ใช้อ่านข้อมูลคอมพิวเตอร์ได้ จึงถูกใช้งานคราวละนานๆเมื่อเทียบกับการใช้งาน PIM ที่ใช้เพียงชั่วขณะในคราวหนึ่งๆ ทำให้แบตเตอรีของ Pocket PC ไม่ค่อยพอใช้






ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ในสมัยนั้นมีผู้ผลิต Pocket PC รายใหญ่ 3 รายคือ Compaq, Casio และ Hewlett Packard ต่างก็ใช้ CPU ต่างยี่ห้อกัน คือ Compaq ผลิตเครื่อง iPAQ ใช้ CPU รุ่น StrongARM ของ Intel (และ ARM Holding) ส่วน Casio ผลิตเครื่อง Cassiopeia ใช้ CPU รุ่น MIPS ของ NEC ส่วน Hewlett Packard ผลิตเครื่อง Jornada ใช้ CPU รุ่น SH3 ของ Hitachi ซึ่งทั้งสามนี้ ใช้โปรแกรมร่วมกันไม่ได้เลย ผู้พัฒนาโปรแกรมก็ต้องทำโปรแกรมออกมาสามแบบ ผู้ซื้อก็ต้องซื้อให้ถูกด้วยครับ ว่าเป็นโปรแกรมรุ่นของ ARM หรือ MIPS หรือ SH3


ขนาดเทอะทะ แบตเตอรีหมดเร็ว และไม่ค่อยมีโปรแกรม แถมเวลาหาโปรแกรมก็ยุ่งอีก ทำให้ Pocket PC ในสมัยนั้น ไม่เป็นที่นิยมครับ





ในปี 2002 Pocket PC ได้ปรับปรุงใหม่อีกครั้ง เป็น Pocket PC 2002 แต่ก็ยังเป็นการปรับปรุงเพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกันมากกว่าจะเป็นการเพิ่มความสามารถ คือ Pocket PC 2002 จะใช้ CPU แบบเดียวกันหมดครับ คือ CPU ที่มีพื้นฐานจากเทคโนโลยีของ ARM Holding จึงตัดความยุ่งยากในการพัฒนาและจัดหาโปรแกรมลงไป


นอกจากนั้นก็เป็นการปรับมาตรฐานของจอภาพ ระบบเสียง การใช้อุปกรณ์ประกอบ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน


เช่นเดิมครับ ความที่ Pocket PC 2002 เป็นเพียงการจัดกระบวนทัพภายในกลุ่ม Pocket PC ด้วยกันเอง ทำให้ยังคงจุดด้อยเดิมๆไว้ครบถ้วน คือขนาดยังเทอะทะ แบตเตอรีไม่พอใช้ และโปรแกรมซับซ้อน ทำงานช้า และมีไม่มาก


เบาลงมาหน่อยคือ โปรแกรมใช้งานร่วมกันได้ทั้งหมด ไม่ต้องมาเลือกให้ตรงกับยี่ห้อ CPU อีก


แต่ Pocket PC 2002 ก็ยังไม่เป็นที่นิยมสักเท่าไหร่






จนผ่านมาอีกหนึ่งปีครับ Pocket PC ก็ปรับตัวครั้งใหญ่อีกครั้ง เปลี่ยนชื่อใหม่ด้วยเป็น Windows Mobile 2003 และเป็นครั้งแรกที่ Pocket PC กลายเป็น PDA ขนาดเล็ก แบตเตอรีใช้งานได้นาน ทำงานได้รวดเร็ว โปรแกรมรุ่นใหม่ๆใช้งานได้ง่ายขึ้นมาก


ในปีนี้เองครับ ที่ Pocket PC ได้กลายมาเป็น PDA กระแสหลัก มีสัดส่วนของผู้ใช้มากที่สุดเมื่อเทียบกับ PDA ที่ใช้ระบบปฏิบัติการอื่นตั้งแต่นั้นมาครับ


สำหรับพัฒนาขั้นต่อๆมา เช่น Windows Mobile 2003 Second Edition และ Windows Mobile 5 และที่จะตามมา อ่านได้จากบทความของ Windows Mobile แต่ละสมัยนะครับ





สำหรับ Palm ซึ่งเป็นเจ้าตลาดเดิม ปัจจุบันก็ยังมีกลุ่มผู้ใช้อยู่นะครับ และยังมีการผลิตเครื่องขายอยู่ แต่จำนวนค่อยๆลดลง เนื่องจากผู้ผลิตรายสำคัญคือ Sony ยุติการพัฒนา PDA ที่ใช้ Palm OS และผู้ผลิตรายสำคัญที่สุดคือ Palm Inc มีการเปลี่ยนแปลงภายในหลายครั้งซึ่งไม่เป็นประโยชน์กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เท่าที่ควร ทำให้ในที่สุดการพัฒนา Palm OS ขาดช่วงลง


Palm OS ที่คาดหวังว่าจะเข้ามาต่อกรกับ Windows Mobile 5 ถูกเรียกชื่อว่า Cobalt เป็นระบบปฏิบัติการที่พัฒนาขึ้นมาเป็น Multitasking เช่นเดียวกับ Windows ซึ่งเป็นการพัฒนาที่จำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่ต้องการเครื่องที่มีสมรรถนะสูงขึ้นมากกว่าจะใช้งานเพียง PIM เช่นเดิม แต่การเป็น Multitasking แม้จะเป็นก้าวสำคัญ แต่ก็เป็นการเดินตามรอยที่ Pocket PC และ Windows เคยผ่านมา นั้นคือความได้เปรียบด้านจำนวนโปรแกรมจะหายไป เพราะแม้โปรแกรมเดิมจะพอใช้งานกับระบบปฏิบัติการใหม่ได้ แต่ก็เป็นเพียงบางส่วน และไม่สมบูรณ์เต็มที่ และจะทำงานช้าเนื่องจากเครื่องต้องจำลองตัวเองไปเป็นระบบเดิมเสียก่อน ต้องอาศัยโปรแกรมที่พัฒนามาใหม่หมดสำหรับการทำงานแบบ Multitasking ซึ่งก็แทบจะเป็นการนับหนึ่งใหม่ เสี่ยงมากสำหรับสินค้าที่เคยประสบความสำเร็จอย่างมาก


ในที่สุด Cobalt ก็ยุติการพัฒนาลง และ Palmsource ผู้พัฒนา Palm OS ซึ่งเป็นบริษัทที่แยกออกมาจาก Palm Inc. เดิมก็ตกไปเป็นของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ


Palm Inc ยังคงใช้ระบบปฏิบัติการรุ่นเดิม Palm OS 4 ที่ล้าสมัยแล้ว และหันมาใช้ Windows Mobile สำหรับเครื่องระดับบนของตนเอง





นั่นคือจะเรียกว่า Palm ได้กลายมาเป็นผู้ผลิต Pocket PC รายหนึ่งไปแล้วก็ได้ครับ


ผู้ผลิตระบบปฏิบัติการของ PDA รายอื่นก็มีนะครับ ทีเด่นๆมีอีก 2 รายคือ





PSION (ออกเสียงว่า ไซ-อั้น) ผลิต Electronics Organizer ชนิดที่ติดตั้งโปรแกรมเพิ่มได้ครับ แต่ยังไม่ได้ทำ PDA เต็มตัว คือยังมี Keyboard อยู่


PSION นี้ต่อมาได้ขายให้กับกลุ่มผู้ผลิตโทรศัพท์ และได้กลายมาเป็นระบบปฏิบัติการบนโทรศัพท์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในเวลานี้ คือ Symbian ครับ





Symbian จัดว่าอยู่นอกยุทธจักร์ PDA ไปแล้วครับ แต่ไปแข่งขันในตลาดที่ใหญ่กว่ามาก นั่นคือ Smartphone ซึ่งเราจะได้คุยกันในบทต่อไป





อีกรายหนึ่งคือ Linux ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการสำคัญอันหนึ่งในโลกของคอมพิวเตอร์ และ Linux ก็กำลังปรับตัวไปทาง Smartphone เช่นกันครับ


สำหรับทุกวันนี้ การพูดถึง PDA ก็แทบจะหมายถึงการพูดถึง Pocket PC ไปโดยปริยายแล้วครับ เพราะ Pocket PC กลายเป็นระบบปฏิบัติการ PDA แบบเดียวที่ประสบความสำเร็จและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีผู้ผลิตให้เลือกมากมาย และมีกลุ่มผู้ใช้จำนวนมาก

No comments: