ผ่านมาและผ่านไปอีกครั้งครับสำหรับเทศกาลปีใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นช่วงเทศกาลที่เราหลายๆคนใช้เวลาทบทวนสิ่งที่ผ่านมา และมองว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นในปีถัดไป และสำหรับวงการ Windows Mobile ก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้น
แต่ก่อนที่เราจะเข้าไปถึงเรื่องแนวโน้มของ Windows Mobile สำหรับปีหน้า เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงวงการโทรศัพท์ในปีหน้าด้วยครับ เพราะวันนี้ภาพหนึ่งของ Windows Mobile นั้น แยกไม่ออกจากความเป็นโทรศัพท์แล้ว ความเป็นไปในวงการโทรศัพท์ย่อมมีผลถึงความเป็นไปของ Windows Mobile อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
แน่นอนว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ในวงการโทรศัพท์คงไม่มีข่าวไหนที่จะโดดเด่นไปกว่าการวางตลาดและความสำเร็จ ของ iPhone จากผู้ผลิตหน้าใหม่แต่เก๋าเกมคือ Apple เจ้าของ McIntosh และ iPod อันมีชื่อเสียง โดย iPhone ทำสถิติขายได้หลักล้านเครื่องภายในเวลาเพียงเดือนเดียว นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของวงการ ไม่ว่าจะมองในแง่ของการออกแบบ การตลาด การผลิต หรือการควบคุมข่าวสารข้อมูล และความเสร็จนี้ทำให้ผู้ผลิตโทรศัพท์รายอื่นๆต้องทบทวนแนวทางการออกแบบ สินค้าของตนเองใหม่
และความสำเร็จของ iPhone ก็เป็นการประกาศว่า โทรศัพท์เป็นส่วนหนึ่งของ Life Style คนเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย
และ หลังจากความสำเร็จของ iPhone ได้ไม่นาน ก็มีข่าวเกี่ยวกับวงการโทรศัพท์ออกมาจากยักษ์ใหญ่ด้าน IT อีกรายหนึ่งคือ Google หลังจากเป็นข่าวลือเกี่ยวกับโทรศัพท์ gPhone อยู่พักหนึ่ง และข่าวนั้นก็เปิดเผยออกมาในที่สุดว่า สินค้าใหม่ของ Google จะไม่ใช่ตัวโทรศัพท์ แต่จะเป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้กับโทรศัพท์ โดยมีพื้นฐานจาก Linux
เกมของยักษ์ใหญ่
ปีหน้าเราจะ ได้พบกับการแข่งขันในวงการโทรศัพท์ โดยมีผู้แข่งขันที่เป็นยักษ์ใหญ่ด้าน IT ถึง 3 รายคือ Microsoft, Apple และ Google ซึ่งแน่นอนว่าผู้ผลิตโทรศัพท์ยักษ์ใหญ่อย่าง Nokia, Sony-Ericsson และ Motorola ไม่ยอมอยู่นิ่งๆแน่ แน้มโน้มต่างๆที่กำลังจะเกิดขึ้นในตลาดโทรศัพท์ก็จะมาจากยักษ์ใหญ่ทั้ง 6 นี่แหละครับ
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ผลิตและผู้พัฒนารายย่อยอีกบางราย เช่น Palm และ ACCESS ที่ยังไม่ละความพยายามจะกลับมาสู่กระแสอีก แต่จากขนาดของการแข่งขันแล้ว คงต้องบอกว่า รายย่อยเหล่านี้คงจะเลี่ยงไปทำตลาด Vertical
ผลของการแข่งขันของยักษ์ใหญ่เหล่านี้จะสะท้อนมาในความเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่ครับคือ
User Interface
การ ปรากฏตัวของ iPhone เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ครับว่า Apple กำลังบอกทุกคนว่า ถึงเวลาออกแบบโทรศัพท์ใหม่กันแล้ว โดยเฉพาะด้าน User Interface ที่ Apple ถนัดเป็นพิเศษ และสิ่งนี้ทำให้ยักษ์ใหญ่ที่เหลือ ต้องกลับไปทำการบ้านใหม่ อย่างเงียบๆบ้าง และอย่างเปิดเผยบ้าง
User Interface ที่จะเปลี่ยนไปอย่างเป็นด้านหลักก็คือการใช้งานภาพเคลื่อนไหวและ Gesture (การขยับมือ) ในการสั่งงานต่างๆแทน Menu แบบเดิมๆ และการใช้งาน Motion sensor สำหรับช่วยสั่งงานแทนการกดปุ่ม เช่นการส่ายโทรศัพท์ไปมาเพื่อสั่งว่า ไม่รับสาย, เกมแบบใหม่ๆที่ใช้การเทเครื่องไปมาแทนการใช้ Joystick ซึ่งคอเกมคงรู้จักกับ User Interface แบบนี้มากับ Wii ของ Nintendo มาแล้ว
คู่แข่งที่สำคัญที่สุดในสนาม User Interface คือยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น Sony-Ericsson เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ผลิตสัญชาตินี้ไม่เคยเป็นรองใครในด้านของ User Interface รวมทั้งคุณภาพของวัสดุและการผลิต การมาของ iPhone จึงเป็นการแข่งกับรายนี้โดยตรง
เราคาดหวังได้เลยว่าจะได้พบกับ User Interface แบบใหม่ๆ ที่ในที่สุดจะเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมจากสองรายนี้
3G
การขาดแคลนชิป 3G จาก Qualcomm ผู้ผลิตชิปโทรศัพท์รายใหม่ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2550 เป็นหลักฐานที่สำคัญว่าผู้ผลิตโทรศัพท์รายใหญ่กำลังหันมาผลิตโทรศัพท์ 3G กันแล้ว และในขณะเดียวกันผู้ให้บริการทั่วโลกต่างก็ Upgrade เครือข่ายของตนเองไปเป็น 3G แล้วด้วย
สำหรับเมืองไทยเรา กทช.จะเริ่มออกใบอนุญาตประกอบการ 3G ในปีหน้าเช่นกัน โดยที่มีผู้ให้บริการบางรายที่มีความพร้อมรออยู่แล้ว
แต่เรื่องของ 3G ในปีหน้ายังคงเป็นเรื่องของตัวเครื่องและเครือข่ายที่แม้จะอยู่ในมือผู้ใช้แล้ว แต่ก็ยังไกลตัว ผู้ใช้ทั่วโลกยังรอคำตอบว่า จะได้อะไรจาก 3G บ้าง
เป็นการบ้านที่ผู้ผลิตและผู้ให้บริการโทรศัพท์จะต้องไปคิด ว่าจะเอาอะไรเป็นจุดขายของ 3G
GPS
อเมริกาและยุโรปกำลังจะบังคับให้โทรศัพท์ทุกเครื่องสามารถระบุตำแหน่งของตนเองได้ นัยว่าเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ครับ แต่เดิมนั้นจะอาศัยข้อมูลจากผู้ให้บริการว่า โทรศัพท์เครื่องนั้นๆกำลังใช้สัญญาณจากสถานีจุดไหน ซึ่งวิธีนี้ให้ความแม่นยำดีในเมืองที่หนาแน่น สถานย่อยๆจำนวนมากในอาคารช่วยให้ระบุตำแหน่งของโทรศัพท์แต่ละเครื่องได้ แม่นยำถึงชั้นของอาคาร แต่จะมีความแม่นยำน้อยมากในถนนหลวงซึ่งสถานีจะมีกำลังสูงและอยู่ห่างกัน ในขณะที่การร้องขอความช่วยเหลือและระบุตำแหน่งมักจะมาจากอุบัติเหตุในท้อง ถนน ทำให้จำเป็นต้องเพิ่มเติมความสามารถของ GPS เข้าไปในโทรศัพท์เพื่อให้สามารถระบุตำแหน่งของตนเองได้แม่นยำในที่โล่ง
มาตรการนี้แม้ว่าจะถูกมองว่าความจริงแล้วอเมริกาและยุโรปต้องการจะทำตัวเป็น Big brother ตรวจความเป็นไปของผู้คนเหมือนอย่างในนวนิยายชื่อ 1984 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบหากมีผู้นำเอาโทรศัพท์มาใช้จุดระเบิดเพื่อ ก่อวินาศกรรม แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆจากนโยบายนี้คือ การมีอุปกรณ์ในลักษณะเดียวกันกับ GPS ในโทรศัพท์
แต่ GPS กับโทรศัพท์จะไม่ได้นำมาใช้เพื่องาน GIS หรือ Navigation ครับ เพราะอุปกรณ์พกพาติดตัวเช่นโทรศัพท์เป็นอุปกรณ์ของทุกๆคนไม่ว่าจะมีความรู้เรื่อง GIS หรือไม่ ไม่ว่าจะขับรถเองหรือเปล่า ผลพลอยได้ของการมี GPS ในโทรศัพท์จะมาในรูปของบริการที่เรียกว่า Location-based service ที่จะพัฒนาต่อไปได้อีกมากมาย
ลองนึกถึง Social network อย่าง Blog ที่กำลังฮิตอยู่ตอนนี้ นึกถึงว่าหากเรามี Blog ที่แสดงความเป็นตัวตนของเรา ความเห็นของเรา ความชอบและไม่ชอบของเรา สิ่งเหล่านี้ปรากฏเป็นข้อมูลสาธารณะที่นำไปประยุกต์กับโทรศัพท์ เราสามารถจะรู้ได้ว่า มีคนที่สนใจเรื่องเดียวกับเราอยู่ใกล้ๆในศูนย์การค้าเดียวกัน, มีเพื่อนของเราสมัยมัธยมกำลังซื้อตั๋วหนังอยู่ถัดไปไม่ไกล ฯลฯ
Location-based service และ Social network เป็น Solution ที่มีศักยภาพมากที่สุดในเวลานี้ ที่จะเป็น Application ที่ใช้ความสามารถของ 3G และอาจเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้จากการสนทนาพื้นๆได้ และจะเหนี่ยวนำให้มีการใช้งานโทรศัพท์ที่หลากหลายออกไปอีก อันนี้เป็นเรื่องที่คงจะได้คุยกันในปีหน้าครับ
นั่นคือส่วนของความ เปลี่ยนแปลงที่กำลังเป็นไปในภาพรวม และพร้อมๆกับความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปในทางเดียวกันก็มีบางเรื่องที่ อยู่ในระหว่างการแข่งขันและคัดเลือกโดยผู้ใช้ ว่าแนวทางไหนที่จะประสบความสำเร็จ
แนวทางที่กำลังหาจุดสมดุล
Open VS Close
แนว ทางการเปิดกว้าง กับแนวทางที่ผู้ผลิตกำหนดกรอบให้กับผู้ใช้ ทั้งสองแนวทางนี้มีข้อดีของตัวเอง แนวทางที่เปิดกว้างทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกแนวทางที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุด ได้ แต่หากผู้ใช้ขาดความรู้ความเข้าใจ ทางเลือกหลากหลายอาจะนำไปสู่ระบบที่มีค่าใช้จ่ายสูง คุณภาพต่ำ ไม่เสถียร และปัญหาอีกมากมาย ในขณะที่ระบบที่ผู้ผลิตกำหนดกรอบให้กับผู้ใช้ มีข้อดีที่ได้บริการที่เชื่อถือได้ในราคาที่ถูก แต่ผู้ใช้อาจได้บริการที่ไม่ตรงกับความต้องการ และอาจต้องจ่ายแพงเนื่องจากการผูกขาด
การเปิดกว้างของเครือข่าย
เช่น สามารถใช้โทรศัพท์เครื่องเดิมกับเครือข่ายไหนก็ได้เพียงการเปลี่ยนไปใช้ SIM ของเครือข่ายนั้นเป็นเรื่องธรรมดาในเอเชียและยุโรป และอเมริกากำลังขยับตามไปในแนวทางที่เปิดกว้างมากขึ้น เอเชียกับยุโรปรวมทั้งบ้านเรากำลังขยับไกลออกไปกว่านั้นคือ Number portability การใช้เลขหมายเดิมแม้จะเปลี่ยนผู้ใช้บริการ ทำให้เลขหมายโทรศัพท์เป็นสมบัติส่วนตัวของแต่ละคน เลขหมายที่ใช้เมื่อสิบปีที่แล้วยังก็คงเป็นเลขหมายเดิมที่สามารถใช้ติดต่อได้แม้จะเปลี่ยนผู้ให้บริการไปเป็นรายอื่น
ซอฟต์แวร์
การเปิดกว้างของผู้ผลิตโทรศัพท์ เช่นระบบปฏิบัติการที่มีผู้พัฒนาอิสระอย่าง Windows Mobile, Symbian และรายใหม่คือ Android จาก Google ทำให้ผู้ใช้โดยเฉพาะผู้ใช้ในระดับองค์กรสามารถพัฒนาโทรศัพท์ให้รองรับการ ใช้งานได้ตรงกับความต้องการมากขึ้น แต่การเปิดกว้างก็เสี่ยงกับเสถียรภาพของระบบที่ผู้ใช้อาจติดตั้งโปรแกรมที่ไม่เหมาะสมลงไปเองและรบกวนการใช้งานของเครื่อง ในขณะที่ระบบที่กำหนดกรอบให้กับผู้ใช้ ติดตั้งอะไรเพิ่มไม่ได้ จะมีเสถียรภาพสูงแม้จะต้องแลกกับความสามารถในการใช้งานเฉพาะด้านได้น้อยลง
สำหรับ Android มีบางอย่างที่น่าสนใจ หากการเปิดกว้างของ Android หมายถึงการที่สามารถจัดหาระบบปฏิบัติการ Android มาติดตั้งในโทรศัพท์รุ่นไดๆก็ได้ เช่นมี Android สำหรับโทรศัพท์ Windows Mobile เดิม (ซึ่งผลิตโดย HTC รายเดียวกับที่กำลังจะผลิตโทรศัพท์ Android) ก็จะทำให้เกิดตลาดใหม่ของ Smartphone ที่ผู้ใช้สามารถนำไป Customize ได้เหมือนกับ PC
การ แข่งขันระหว่าง Open และ Closed มีแนวโน้มว่าจะขยับไปทาง Open มากขึ้น โดยผู้ผลิตโทรศัพท์เปิดโอกาสให้ลูกค้าระดับองค์กรสามารถกำหนด Policy ให้สามารถปรับตั้งโทรศัพท์ไปตาม Application ที่องค์กรใช้งาน ในขณะเดียวกันก็ไม่อนุญาตให้ผู้ใช้ติดตั้งโปรแกรมได้เอง เป็นแนวทางที่จะได้รับความนิยมและเป็นการนำเอาข้อดีของทั้งสองแนวทางมาใช้
เช่น เดียวกับการใช้งานเทคโนโลยีอื่นๆ แนวทางการใช้งานในระดับองค์กรจะค่อยๆเป็นที่ยอมรับเป็นการใช้งานในระดับบุคคลในที่สุด ในขณะที่การใช้งานที่เริ่มจากการใช้งานส่วนบุคคล ยากที่จะพัฒนาและเติบโตต่อไปได้ ผู้ผลิตและผู้พัฒนาที่สามารถจับตลาดองค์กรได้ก่อน จะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่าผู้ผลิตและผู้พัฒนาที่จับตลาดการใช้งาน ส่วนบุคคลก่อน ความสำเร็จในตลาดผู้ใช้งานส่วนบุคคลจะมีความอ่อนไหวกับแฟชั่นและจะเป็นไปในช่วงสั้นๆ ผู้ผลิตที่จะอยู่ในตลาดนี้ไม่จำเป็นต้องห่วงเรื่องการเปิดกว้างของระบบ แต่จะต้องมีความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้เร็ว เปลี่ยนรุ่นบ่อย
Open หรือ Close จึงขึ้นอยู่กับกลุ่มตลาด ว่าจะเป็นองค์กร หรือผู้ใช้ทั่วไปครับ แต่เครือข่ายมีแนวโน้มว่าจะเปิดกว้างขึ้น การทำกำไรจากการผูกกับผู้ให้บริการบางรายจะสร้างกำไรได้น้อยลง
เครื่องเล็ก VS จอใหญ่
นับ ตั้งแต่มีโทรศัพท์เคลื่อนที่เมื่อกว่าสิบปีมาแล้ว โทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ลดขนาดลงมาเรื่อยๆจนในที่สุดขนาดของโทรศัพท์ก็ไม่ได้กำหนดด้วยเทคโนโลยีของฮาร์ดแวร์และแบตเตอรีอีกต่อไป แต่ถูกกำหนดด้วย User Interface อันดับแรกคือ ปุ่มกดที่ไม่สามารถจะเล็กลงไปกว่านี้ได้อีกแล้ว
แต่ ในช่วงปีที่ผ่านมา Windows Mobile และ Symbian เริ่มกำหนดขนาดใหม่ของโทรศัพท์ด้วยขนาดจอที่ใหญ่ขึ้น ทำให้โทรศัพท์ต้องมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นด้วย และในที่สุด iPhone ก็มาพร้อมกับจอภาพขนาดใหญ่ขึ้นไปอีก
ในปีหน้าขนาดของจอภาพจะเริ่มลง ตัว โดยเป็นผลมาจากพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้ว่าจะเปลี่ยนมาใช้งานการสื่อสาร ข้อมูลมากขึ้น หรือหากการใช้งาน Touchscreen ประสบความสำเร็จโทรศัพท์ก็จะต้องการจอที่ใหญ่ขึ้น
แต่หากพฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์ยังคงเดิม หรือการใช้งานปุ่มกดประสบความสำเร็จมากกว่า จอภาพของโทรศัพท์ขนาดใหญ่ก็จะไม่เป็นที่ต้องการ
Touch screen VS ปุ่ม
เป็นสองแนวทางที่จะแข่งขันกันอย่างเข้มข้นในปีหน้า ว่าในที่สุดแล้วผู้ใช้จะยอมรับแนวทางไหน ระหว่างจอภาพขนาดใหญ่ สั่งงานผ่าน Touch Screen หรือจะเป็นจอภาพขนาดย่อมลงมา และมีปุ่มควบคุมที่เพียงพอ โดยการใช้งานแบบปุ่มก็ยังมีการแข่งขันระหว่างปุ่ม QWERTY ที่เหมือนคีย์บอร์ดขนาดเล็ก กับปุ่ม 12 ปุ่มแบบโทรศัพท์
ความสำเร็จของแต่ละแนวทางอาจต่างกันได้ในแต่ละภูมิภาคด้วย เช่นปุ่ม QWERTY กำลังขับเคี่ยวกับ Touchscreen ในอเมริกา แต่แนวทางปุ่ม 12 ปุ่มประสบความสำเร็จอย่างมากในญี่ปุ่น และแนวทางผสมผสานระหว่าง Touch screen กับปุ่ม 12 ปุ่มประสบความสำเร็จในยุโรป เอเชียและส่วนอื่นๆของโลกซึ่งมีความหลากหลายของภาษา
สิ่งที่กำลังเสื่อมความนิยม
ในขณะที่สองแนวทางหรือมากกว่าที่กำลังรอการตัดสิน แต่มีบางสิ่งในวงการ Smartphone ที่กำลังจางหายไปครับเช่น
Stylus
"ไม้จิ้ม" มีความเป็นมาคู่กับ PDA ครับ และในที่สุดก็มีความเป็นไปคู่กับ PDA นั่นคือกำลังหมดความนิยมไป และถูกแทนด้วยแนวทางของโทรศัพท์ในที่สุด แม้ว่า Touch screen จะยังคงอยู่ แต่การใช้ Touch screen ในยุคถัดมาก็เป็นการใช้ด้วยมือเปล่า ไม่ต้องอาศัย Stylus
แม้แต่ Non-phone device ยุคใหม่ ก็จะไม่เน้นการใช้งาน Stylus เช่นกันครับ
พร้อมๆ กับการจากไปของ Stylus ก็คือ การเขียนด้วยลายมือ ซึ่งถูกแทนด้วยการกรอกข้อมูลตามแนวทางของโทรศัพท์ แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาการเขียนด้วยลายมืออย่างประสบความสำเร็จเช่นญี่ปุ่น แนวทางนี้ก็ยังต้องหลีกให้กับการกดปุ่ม 12 ปุ่มเช่นกัน
WiMAX
ใน วันที่ 3G ยังเป็นวุ้นอยู่ เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายความเร็วสูงที่ประสบความสำเร็จในเวลานั้นคือ Wireless LAN ซึ่งมีความเร็วสูงกว่าเทคโนโลยี 2.5G ในเวลานั้นอย่างเทียบกันไม่ได้ ด้วยความสำเร็จของ Wirless LAN ทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นไปเป็นเครือข่ายที่ครอบคลุมบริเวณกว้างมากขึ้นคือ WiMAX ซึ่งลักษณะการครอบคุลมของ WiMAX มีลักษณะที่ที่แข่งขันกับระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยตรง ทำให้มีแนวโน้มในขณะนั้นว่า หาก 3G พัฒนาได้ไม่เร็วพอ WiMAX จะกลืนโทรศัพท์มือถือไปในที่สุด โดยมีการสื่อสารในแบบ Voice Over IP บน WiMAX มาทดแทนในส่วนของการสนทนา
แต่จนแล้วจนรอด WiMAX ก็ยังไม่ได้เกิด ขณะที่ 3G ค่อยๆคืบคลานเข้ามา และในที่สุด 3G กำลังจะเกิดอย่างเต็มตัว และหมายถึงวาระสุดท้ายของ WiMAX ด้วย
แสดงถึงความแข็งแกร่งของกลุ่มผู้ ผลิตโทรศัพท์มือถือและเครือข่ายที่ยังคงเหนือกว่ากลุ่ม IT ในตลาดนี้ ซึ่งมีผลไปถึงความสำเร็จของ Smartphone ที่จะยังคงเป็นรอง Feature phone ต่อไป รวมทั้งในปีหน้าด้วย
เพราะ Feature phone เป็นของผู้ผลิตโทรศัพท์ แต่ Smartphone เป็นเรื่องของ IT
สิ่งที่ยังคงแทบไม่เปลี่ยนแปลง
ใน ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมด มีบางอย่างที่ฝังรากลึกยากที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่ด้วยครับ และอาจจะทำให้ปีหน้ายังไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงมากอย่างที่คาดนั่นคือ
การใช้งานเน้นที่การสนทนา
แม้แต่ในตลาดที่ก้าวหน้าที่สุดในโลกอย่างญี่ปุ่นและเกาหลี การใช้งานโทรศัพท์ก็ยังคงเป็นไปเพื่อการสนทนาเป็นหลัก แม้จะมีโทรศัพท์ระดับ 3G นานแล้วก็ตาม
คนญี่ปุ่นอาจจะใช้งาน Text message มาก แต่ก็เป็นไปเพื่อการทดแทนการสนทนาด้วยคำพูด เพราะมารยาทสังคมของญี่ปุ่นไม่นิยมให้คุยโทรศัพท์ในหลายพื้นที่ รวมทั้งในรถโดยสาร หรือความแออัดคับแคบของที่พักอาศัยในเมืองใหญ่ ทำให้ขาดความเป็นส่วนตัว การสนทนาจึงถูกแทนด้วยข้อความในหลายสถานการณ์ แต่ก็ยังคงเป็นไปในลักษณะของการสนทนาเช่นเดิม
แม้ผู้ให้บริการในญี่ปุ่นจะบอกว่า จำนวนของการใช้งานอินเทอร์เน็ตทางโทรศัพท์มือถือ ได้แซงหน้าการใช้งานอินเทอร์เน็ตทางสายเคเบิลไปแล้ว แต่ทั้งหมดเป็นการใช้งานโดยมีคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์ ไม่ใช่การใช้งานโดยมองที่จอโทรศัพท์ครับ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเครือข่ายสายเคเบิ้ลไม่ทั่วถึงเท่า และมีราคาแพงกว่า ตามแบบของประเทศที่มีระบบสื่อสารสมัยใหม่และมีภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงเช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศในแถบยุโรป ซึ่งการวางสายเคเบิลมีค่าใช้จ่ายมากกว่าการติดตั้งสถานีวิทยุ
โอกาสที่การสื่อสารข้อมูลจะเข้ามาแทรกในส่วนนี้ได้ก็แทบจะมีเพียงอย่างเดียวคือ Instant message ครับ และด้วยการช่วยเหลือของเทคโนโลยี GPS ตามที่ได้เรียนมาแล้ว ทำให้ Location-based service อาจจะมีช่องทางได้เกิด แต่อย่าเพิ่งคาดหวังมากครับ
แต่แรงต้านอันนี้ ไม่ขัดขวางการออกแบบรูปลักษณ์และ User Interface ซึ่งเราจะได้เห็นกันชัดเจนขึ้นในปีหน้า หากพฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์ยังไม่เปลี่ยนไปจากการสนทนา ก็จะได้บทสรุปสำคัญของประวัติศาสตร์การสื่อสารเคลื่อนที่ว่า เป็นเครื่องมือสื่อสารด้วยการสนทนาพร้อมๆกับเป็นเครื่องหมายแสดงสถานะทางสังคม เหมือนกับที่รถยนต์ได้ทำหน้าที่นี้มาก่อนและไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาตลอดเวลาร้อยปี และจากนี้ไปการออกแบบจะเน้นไปที่การตอบสนอง Life style ในด้านอื่นๆแทน
ครับ เช่นเดียวกับที่รถยนต์เป็นมา มันไม่ยอมบิน ไม่ยอมว่ายน้ำ แม้จะมีความพยายามให้มันทำ แต่รถยนต์จะวิ่งบนถนนเท่านั้น และทำหน้าที่อวดบารมีของเจ้าของไปพร้อมกับที่มันเดินทางบนล้อ
ปัจจัยด้านพฤติกรรมอันนี้ อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับปีนี้ครับ และหากบริการสื่อสารข้อมูลบนโทรศัพท์ เช่นการใช้งาน Internet บนจอเล็กไม่สามารถเกิดขึ้นและเป็นที่นิยมได้ในปีนี้ โทรศัพท์ก็จะยังคงเป็นเครื่องมือสำหรับการสื่อสารด้วยเสียงเป็นหลักต่อไป การสื่อสารข้อมูลบนโทรศัพท์ที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือการนำไปใช้เป็น High Speed Wireless Modem บนเครือข่าย 3G ให้กับอุปกรณ์ในกลุ่ม Notebook ซึ่งในปีนี้ Solid-state Notebook ซึ่งมีราคาถูกกำลังประสบความสำเร็จอย่างมาก และการใช้งานโทรศัพท์ในแบบ Smartphone ก็จะลดบทบาทลงไป
ไว้ปีหน้าเราค่อยมาสรุปกันอีกทีครับ และหากปัจจัยนี้เป็นจริง เรื่องของ 4G จะเปลี่ยนไปอีกมาก
Windows Mobile
พอจะมองเห็นความเป็นไปของตลาดโทรศัพท์นะครับ และ Windows Mobile Phone ก็จะต้องตอบสนองกับวงการโทรศัพท์ไปตามนั้นด้วย นั่นหมายถึงว่า จะยังไม่น่ามีความเปลี่ยนแปลงอะไรในด้านของ Feature ของ Windows Mobile Phone มากนักในปีหน้า แต่จะเป็นไปในรูปของการออกแบบ วัสดุและการประกอบที่ประณีตขึ้น และอาจจะมี Feature ในเรื่องของ Location-based service เข้ามา เพราะ Windows Mobile เป็นระบบที่พร้อมสำหรับ Feature ใหม่ๆมากที่สุดในเวลานี้ จนกว่า Android จะปรากฏตัว
Windows Mobile 6 Second Edition?
แน่นอนว่า Microsoft จะออก Windows Mobile ตัวใหม่มาด้วย ซึ่งคาดหวังได้ว่าจะไม่มีอะไรเพิ่มขึ้นมามากนัก เช่นเดียวกับสมัยที่ Windows Mobile 2003 ขยับขึ้นมาเป็น Windows Mobile 2003 Second Edition คือพัฒนาในส่วนของ User Interface เป็นหลัก
แต่ก็เช่นเดียวกับ WM2003SE ครับ ที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนา Windows Mobile 5 ในเวลาต่อมาโดยที่มี User Interface ที่แทบไม่ต่างกัน ทำให้ Windows Mobile 6 ตัวใหม่ จะเป็นเพียงการตั้งหลักกับ User Interface แบบใหม่ ก่อนจะขยับต่อไปในส่วนของ Feature
ความที่ไม่แตกต่างจากเดิมมาก ทำให้ระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่น่าจะยังคงใช้รหัส Windows Mobile 6 อยู่เช่นเดิม และมี User Interface ให้ทัดเทียมกับคู่แข่งทั้งจากค่าย IT ด้วยกันและคู่แข่งจากทางฟากผู้ผลิตโทรศัพท์
และด้วย Feature ที่แทบไม่ต่างจากเดิม กับพฤติกรรมของผู้ใช้ที่อาจจะไม่เปลี่ยนไป กระแสของผู้ใช้ได้ถอยห่างออกจาก Windows Mobile ไปแล้ว ทำให้การเติบโตของส่วนแบ่งตลาด และความนิยมใน Windows Mobile Phone ปีหน้าจะไม่มีอะไรหวือหวาครับ ออกจะไปทางพอเสมอตัว โดยปัจจัยสำคัญจะอยู่ที่ผู้ผลิตว่าจะผลิตโทรศัพท์ที่สวยเนี้ยบสมฐานะเจ้าของได้แค่ไหน
แต่หากพฤติกรรมของผู้ใช้เปลี่ยนไป และ Location-based service หรือบริการอื่นนอกจากการสนทนาได้เกิด งานนี้ก็คงได้คุยอะไรเยอะหน่อยในช่วงปลายปีหน้าครับ
Non-phone PDA
ปีหน้าจะเป็นปีที่ Non-phone device กลับเข้ามาครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็น PDA ที่ใช้งานเฉพาะด้าน เช่นใช้ในเชิงพานิชย์อย่างที่เราเห็นกันบ่อยๆตามร้านอาหาร คลังสินค้า ไปรษณีย์
สำหรับผู้ใช้ทั่วไปก็จะได้พบในรูปของ Navigation GPS ครับ โดยทางค่าย Windows Mobile จะออกมาในรูปของ Pocket PC หรือไม่ก็ Windows CE device ที่ไม่ต้องมีโทรศัพท์ เพราะการใช้ Navigation GPS ที่เป็นโทรศัพท์ในตัวด้วยนั้น แม้จะทำงานได้โดยสมบูรณ์แบบก็มีความน่ารำคาญอยู่ในตัว และอาจจะขัดขวางการทำงานกันเอง เช่นการนำทางในที่คับขันแล้วมีสายเข้ามาขัดจังหวะ อาจทำให้พลาดจุดเลี้ยวและต้องเสียเวลาได้
GPS Pocket PC Phone จะไปทาง Location-based service และ Social network ตามที่เรียนไว้แต่แรกครับ
ถึงแม้ว่าในที่สุดแล้ว Smartphone อาจจะต้องจากไปเพราะพฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์ที่ลงตัวในด้านของการสนทนาเป็นหลัก แต่เครือข่าย 3G ก็ไม่ใช่ว่าจะไร้ค่าไปเสียทีเดียวครับ เพราะอย่างน้อยก็ยังใช้งานในฐานะของ Wireless high speed data communication
Windows Mobile และอุปกรณ์พกพาคงจะพัฒนาไปในแนวทางคล้ายๆกับ iPod คือสำหรับความบันเทิง หรือแบบ Communicator สำหรับการสื่อสารข้อมูลโดยเฉพาะ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ใช้งานอย่างโทรศัพท์ แต่ก็จะใช้งานเครือข่ายโทรศัพท์สำหรับการสื่อสารข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเพลงหรือสื่อบันเทิงผ่านเครือข่าย ใช้งาน Internet และอื่นๆ แต่อย่าเพิ่งคาดหวังมากในปีนี้เช่นกันครับ อุปกรณ์พกพา 3G ที่เป็น Non-phone ยังไม่น่าจะแจ้งเกิดในปีนี้ แต่จะมีแรงผลักดันออกมาสำหรับปีต่อไป
จาก PDA แยกชิ้นกับโทรศัพท์ มาสู่ Smartphone และ PDA Phone
ในที่สุด โทรศัพท์ที่เก่งขึ้นก็แยกตัวออกมาจากอุปกรณ์พกพาอีกครั้ง แต่ไม่ใช่ PDA
สรุป
อนาคตของ Windows Mobile ในปีหน้าค่อนข้างเงียบและไม่สดใสนักแม้จะไม่มีอุปสรรคสำคัญ ปัจจัยบวกที่สามารถจะเป็นไปได้ก็คือคุณภาพของผู้ผลิต และการตั้งราคาเป็นหลักครับ หากผู้ผลิตพัฒนาในด้านวัสดุกับคุณภาพของการประกอบ และ Windows Mobile 6 รุ่นต่อไปมี User Interface ที่ดี เราก็คงจะได้สนุกกับการติดตามเครื่องรุ่นใหม่ๆ คล้ายๆกับที่ติดตามโทรศัพท์รุ่นใหม่ๆครับ ยังไม่ต้องคิดถึงเรื่องของ Feature หรือ Solution ใหม่มากนัก