Mobile From Advance

09 June 2008

โทรศัพท์ 3G กับความถี่ต่างๆ

วันก่อนมีโอกาสไปธุระที่เชียงใหม่โดยช่วงนี้เราก็คงได้ข่าวเกี่ยวกับการทดลองเปิดบริการโทรศัพท์ 3G ของผู้ให้บริการรายหนึ่งคือ AIS ซึ่งเริ่มทดลองให้บริการแล้วโดยเริ่มที่เชียงใหม่เป็นแห่งแรก ก็เลยจัดการเตรียมเอา ASUS P735 ไปด้วยซึ่งเครื่องนี้ผมมีโอกาสได้นำติดตัวไปต่างประเทศและใช้งาน 3G ได้โดยมีโอกาสทดลองเพียงความเร็วของการสื่อสารข้อมูล ซึ่งรวดเร็วอย่างไม่มีข้อสงสัย แต่ยังไม่ได้ทดลองใช้บริการอื่นเช่น Video Call เพราะยังไม่มีใครที่ติดตอด้วยเขาใช้ความสามารถนี้

คราวไปเชียงใหม่คราวนี้ก็เลยกะว่าจะได้ทดลองใช้ Video Call สักที เพราะเพื่อนที่ไปด้วยกันคนหนึ่งก็ใช้โทรศัพท์ 3G อยู่ (DOPOD D810) และใช้งานกับเครือข่าย 3G ในต่างประเทศได้ตามปกติ ก็คาดว่างานนี้คงได้ทดสอบอะไรใหม่ๆกัน นอกจากเรื่องของ Video Call แล้วก็ยังจะได้สาธิตการใช้งาน Handsfree แบบหนึ่งซึ่งมีมานานแล้วแต่ถูกลืมกันไปและกำลังจะกลับมาใหม่นั่นคือ Speakerphone ซึ่งโทรศัพท์รุ่นใหม่ๆโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Windows Mobile phone มีทุกรุ่นอยู่แล้ว ไม่ต้องไปหาหูฟังก็ใช้งานในรถได้ แล้วก็ไม่ต้องห่วงด้วยว่าเสียงจะชัดหรือเปล่า เพราะผมใช้มานานแล้วและยังไม่เคยมีใครถามว่าผมใช้หูฟังอะไร
แสดงว่าเสียงชัดดีตามปกติจนไม่มีใครสงสัยไงล่ะครับ
ที่ว่า Speakerphone กำลังจะกลับมาก็เพราะการใช้งานอย่าง Video Call จะไม่ยกโทรศัพท์ขึ้นแนบหู แต่จะมองจอไปด้วยคุยไปด้วย เป็นลักษณะเดียวกับ Speakerphone

แต่ปรากฎว่าพอไปถึงกลายเป็นใช้ไม่ได้ คือใช้ได้เพียงบริการ GSM/GPRS/EDGE ตามปกติ เครื่องหมายบนจอภาพขึ้นเพียง G หรือ E เท่านั้น ไม่ได้เป็น 3G อย่างที่คาด ตอนแรกก็นึกว่าคงอยู่นอกพื้นที่ให้บริการอยู่มั้ง แต่แหม สนามบินเนี่ย่น่าจะเป็นจุดที่มีบริการแบบนี้เป็นแห่งแรกๆนะ
หลังจากเดินทางไปหลายจุดในเชียงใหม่ก็ยังพบว่าใช้ไม่ได้ สอบถามกับเพื่อนที่ใช้ DOPOD D810 แล้วก็พบว่าใช้ไมได้เช่นกันครับ ก็เลยสงสัยว่า บริการนี้น่าจะมีอยู่ แต่โทรศัพ์ท์ของเราใช้กับบริการนั้นไม่ได้มากกว่า
ก็เลยจัดการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมนิดหน่อย แล้วก็มาแชร์กับเพ่อนๆชาว Pocket PC Thai ครับ

โดยสรุปก็คือ โทรศัพท์ของเราใช้งานที่ย่านความถี่ที่แตกต่างจากของ AIS ครับ โดยที่ AIS ให้บริการที่ความถี่ 900 MHz แต่ว่าโทรศัพท์ที่นำไปใช้ คือ ASUS P735 ใช้งานระบบ UMTS ที่ย่านความถี่ 2100 MHz และ DOPOD D810 ใช้งานที่ย่านความถี่ 850/1900/2100 MHz
ครับ คนละแบนด์กัน เลยใช้ด้วยกันไม่ได้ เพื่อนๆท่านไหนที่ต้องการลองใช้บริการ 3G ของ AIS ที่เชียงใหม่ก็ต้องตรวจสอบก่อนนะครับ ว่าโทรศัพท์ของเราทำงานที่แบนด์ไหน
ไหนๆก็ค้นคว้าเรื่องความถี่ของ 3G แล้ว ก็เลยคุยต่อกันอีกสักหน่อยครับจะได้ครอบคลุมไปถึงภาพรวมๆของบริการโทรศัพท์ 3G ที่กำลังจะมาถึงว่าจะใช้กับโทรศัพท์แบบไหนได้บ้าง ซื้อมาแล้วจะเปลี่ยน SIM ไปใช้กับเจ้าอื่นๆได้เลยหรือเปล่า

ตั้งแต่เรามีโทรศัพท์มือถือมา วันนีได้เข้ามาถึงสมัยที่ 3 (3rd Generation - 3G) แล้วครับ โดยสมัยแรกคือสมัยของโทรศัพท์ Analog หรือเรียกว่า 1G ตัวเครื่องรับมีขนาดเทอะทะกว่าสมัยนี้มาก โดยบ้านเราสมัยนั้นมีบริการ NMT ที่ความถี่ 450 MHz เครื่องเท่ากระเป๋าใบเล็กๆ กับบริการ NMT ความถี่ 900 MHz และอีกเทคโนโลยีหนึ่ง AMPS ความถี่ 800 MHz สองระบบหลังนี้เครื่องรับมีขนาดเท่าๆกับไม้ตีพริก
สมัยของ 1G นี่จะสื่อสารข้อมูลก็อาศัยวิธีเดียวกับเครือข่ายใช้สายครับ ต่อ Modem คล้ายๆกัน จากนั้นจะช้าหรือเร็วก็ตัวใครตัวมัน สมัยนั้นเรื่องอินเทอร์เน็ตยังไกลตัวมากด้วย เลยไม่ค่อยซีเรียสเท่าไร่

ล่วงมาถึงยุค Digital ก็ขยับมาเป็น 2G ที่บ้านเรามีระบบ GSM มีความถี่ที่ใช้งานกันคือ 450/480/850/900/1800/1900 MHz ทั้งหมด 6 ย่านความถี่ คราวนี้ตัวเครื่องเล็กกระทัดรัดลงมาก
ในบ้านเราก็มีบริการก็ 900 MHz โดย AIS ส่วนความถี่ 1800 MHz ให้บริการโดย TAC, True Move และ DPC
ระบบ GSM ความถี่ 900 MHz กับ 1800 MHz นี้เป็นที่นิยมกันในยุโรปและเอเชีย ใช้กันมากที่สุดในโลกครับ
กับความถี่ 1900 MHz ซึ่งมีใช้ในอเมริกา ก็ให้บริการโดย Thai Mobile

แบนด์ 450 Mz กับ 480 MHz แทบไม่มีที่ไหนในโลกเขาใช้แล้ว ส่วนแบนด์ 850 MHz ก็มีเพียงอเมริกาเท่านั้นครับที่ใช้ ก็ไม่ได้หมายความว่าอเมริกาก้าวหน้ากว่าใครนะครับ จะว่าไปแล้วอเมริกามีเครือข่ายใช้สายที่ก้าวหน้าเสียจนเครือข่ายไร้สายของตัวเองล้าหลังกว่าชาวบ้านเขา ใช้ความถี่ก็ไม่ค่อยจะเหมือนใครตอใคร ขณะที่ทางยุโรป ญี่ปุ่นและเกาหลีเขามีแต่ป่าเขา วางสายไฟลำบาก เลยพัฒนาเครือข่ายไร้สายขึ้นมาเองและก้าวหน้ามาก
โทรศัพท์สมัย 2G มีความถี่ที่ใช้กันจริงๆก็ 850/900/1800/1900 สี่แบนด์นี้ ดังนั้นโทรศัพท์ Quad-band จึงใช้กับเครือข่ายเทคโนโลยี GSM ได้ทั่วโลก
สมัยของ 2G ก็พัฒนาความสามารถด้านการสื่อสารข้อมูลขึ้นมาระดับหนึ่ง คือเป็น GPRS แล้วก็ขยับมาป็น EDGE ซึ่งก็จัดเป็นระดับ 2.5G กับ 2.75G

พอมาถึง 3G นี่เขาก็เปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีพอสมควรครับ ทำให้ต้องจัดสรรย่านความถี่กันใหม่อีกหน่อย เทคโนโลยีคราวนี้เป็นกลุ่ม W-CDMA ซึ่งต่อไปเราจะคุ้นกับคำว่า UMTS ครับ โดย UMTS จะมีบริการที่ 850/900/1700/1900/2100 MHz
ครับ ช่วงแรกๆของ 3G เครื่องโทรศัพท์ที่มีครบทั้ง 5 แบนด์คงหายากหน่อย ประกอบกับยังไม่มีข้อมูลว่าผู้ให้บริการรายหลักๆอย่าง TAC และ True Move จะให้บริการที่ความถี่เท่าไหร่ แต่ตอนนี้ AIS ให้บริการที่ 900 MHz ไปแล้ว (ซึ่งต้องเรียนตามตรงว่าเป็นย่านความถี่ที่ไม่ค่อยมีใครเขาใช้กัน หาเครื่องรับยาก) ส่วนอีกรายหนึ่งคือ Thai Mobile นั้นแน่นอนว่าเขาพร้อมสำหรับย่านความถี่ 1900 MHz อยู่แล้ว ส่วน DPC (หรือที่รู้จักกันในชื่อ Hello) นั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ AIS จึงไม่ได้สัมปทาน
ดังนั้นหากจะถามในวันนี้ว่าจะเลือกโทรศัพท์ 3G ย่านความถี่ไหนดี จึงยังตอบยากครับ ว่าจะเอาอันไหนถึงจะตรงกับที่เราจะได้ใช้ และสะดวกสำหรับการเปลี่ยนผู้ให้บริการ
ต้องรออักสักระยะ เช่นเดียวกับที่ GSM ลดจาก 6 ย่านความถี่ลงมาเหลือ 4 ย่าน ในอนาคตข้างหน้า UMTS ก็น่าจะเหลือย่านความถี่ที่นิยมใช้กันน้อยกว่านี้

นี่เราคุยกันเฉพาะเทคโนโลยี GSM เท่านั้นนะครับ ยังไม่ได้พูดถึงทางฟาก CDMA เขาซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทางอเมริกาพัฒนา แล้วญี่ปุ่นกับเกาหลีมาต่อยอด ในบ้านเราก็มี Hutch และ กสท.เป็นผู้ให้บริการ ปัจจุบันบริการ EV-DO มีสมรรถนะในระดับ 3G ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ฟากนี้เขาไม่ค่อยยุ่งเท่าไหร่ คือจะใช้ของเขาก็ต้องซื้อเครื่องจากเขา ไม่ต้องเลือกเพราะไม่ค่อยมีให้เลือก ยิ่งโทรศัพท์ Windows Mobile ยิ่งแทบไม่มีให้เลือกครับ

3G จะทำให้การสื่อสารระหว่างบุคคล และอุปกรณ์ประจำตัวจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่เคยมีมาก่อนครับ ไว้เราจะค่อยๆเห็นภาพเหล่านี้ชัดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

No comments: